fbpx

[SR] อินเดียน่าโอม กับ ทะเลเจดีย์แห่งบากัน โดยGPX LEGEND 250 TWIN by Moto moment

โอม…สะมันตา จักกะวาเฬสุ เยื้องมัณฑะเลย์ไปทางประจิม ทะเลเจดีย์และอารามกว่าสองพันแห่ง กล่าวกันว่าอาณาบริเวณนี้เคยมีกว่าหมื่นเจดีย์และอาราม ความเจริญของหลายอาณาจักรที่ครองอำนาจนับร้อยนับพันปีของลุ่มน้ำแถบนี้ห้วงคนึงของเบื้องปลายแห่งเหมันต์ที่คาบเกี่ยวกับยามต้นแห่งวัสสานะฤดูของทิวาหนึ่ง แสงขมุกขมัวยามเย็นจับเข้ากับเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐแดงที่ต้องฝนและแดดมาหลายร้อยฤดูกาล สถาปัตยกรรมนับพันที่เปรียบเสมือนบันทึกแห่งความทรงจำที่ยังยืนหยัดข้ามผ่านกาลเวลา

บ่งชี้ถึงร่องรอยแห่งอารยที่เรืองรองถึงขีดสุดในบรรพกาลแห่งลุ่มน้ำอิรวดี บนเส้นทางที่จารึกไปด้วยอาชายนต์ติดเครื่องสองสูบเรียงพิกัดสองครึ่ง พร้อมหมู่มิตรหลายขนาดหลากวัยที่ร่วมเดินทางในคาราวาน คล้ายว่าเราจะย่ำรอยยางทับซ้อนรอยเท้าและรอยเกวียนของบรรพชน บนระยะทางร่วมสองพันกว่ากิโลเมตรในปัจจุบันที่ทอดยาวไกลไปในความทรงจำ เดินทางไปกับเรา “อินเดียน่าโอม กับทะเลเจดีย์แห่งบากัน” by GPX LEGEND 250 TWIN

อนึ่ง กระทู้นี้ขอเป็นส่วนหนึ่งของการไว้ความอาลัยแก่ “พนมเทียน” หรือนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรม เพชรยอดมงกุฎของวงการวรรณกรรมไทย ผู้เป็นแรงบันดาลใจและหล่อหลอมชีวิตและทัศนคติ อุดมการณ์ของผู้เขียน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวตนของอินเดียน่าโอมได้รับแรงบันดาลใจจาก “เพชรพระอุมา” ไม่น้อย (หากสะพาย .375 ไปขี่มอเตอร์ไซค์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายก็คงทำไปแล้ว) รวมไปถึงเสมือนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นครูอักษร ครูเรียนเขียนกลอน ครูที่ผู้เขียนพยายามจะเจริญรอยตามให้ได้แม้สักเสี้ยวหนึ่งของความสามารถของท่านก็ยังดี

เมียนมาร์….เพื่อนบ้านเบื้องซ้ายที่ว่ากันว่าเป็นแดนสนธยาแห่งนักเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์แห่งสยาม

หลายปีก่อนนั้น การจะเดินทางขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามผ่านพรมแดนและเดินทางลึกเข้าไปกว่าตัวเมืองที่ติดชายแดนเพื่อไปเยือนแดนโสร่งแห่งนี้ หากมิได้เป็นอาคันตุกะระดับแขกบ้านแขกเมือง หรือถือหนังสือเดินทางของประเทศที่เจริญแล้ว นับว่าอับจนด้วยหาทาง

ทั้งหลายพื้นที่ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังมีการปะทะกันด้วยกำลังและอาวุธสงครามและการปะทะในรูปแบบต่างๆที่พิจารณาแล้วว่า “ยังไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยพาหนะใดๆไม่ว่าจะโดยลำพังหรือเป็นหมู่คณะ”

เมื่อปีสองปีกอนนี้ การเดินทางแบบหมู่คณะผ่านเข้าไปในเมียนมาร์เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่หากคนที่ไม่อินกับเมียนมาร์จริงๆ อาจจะเลือกจ่ายเพื่อขึ้นเหนือไปเหยียบหิมะเสียดีกว่า หลายๆกรุ๊ปที่ตั้งท่ากันว่าจะไปๆก็เลยไม่ได้ไปกันเสียที

เมื่อปลายๆปีที่ผ่านมา ได้รับคำชวนให้เข้าร่วมทริปนี้ ยอมรับเลยว่าเป็นทริปในฝัน ด้วยดินแดนที่ถือว่ายังสดใหม่สำหรับนักเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไทย ที่นับว่าน้อยคนนักที่จะได้เข้าไปท่องเมียนมาร์ด้วยมอเตอร์ไซค์ หลังจากนั้นก็หมายมั่นปั้นใจว่า ทริปนี้ต้องไม่พลาดด้วยประการทั้งพวง

จะขี่คันไหนไปล่ะ….

แน่นอนว่าทริปแบบนี้ ผู้สนับสนุนที่ยังยืนยันว่าจะสนับสนุนให้เกิดบทความที่มีเนื้อหาสาระมากกว่าการรีวิวมอเตอร์ไซค์ก็ยังคงยืนยันเจตนาเดิมอยู่ GPX จึงเป็นผู้สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้

ด้วยสไตล์ของอินเดียน่าโอมที่เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คลาสสิค  เพื่ออัตราเร่งที่ดีขึ้น พละกำลังที่ดีขึ้น ความเร็วสูงสุดดีขึ้น ถังน้ำมันที่จุได้มากขึ้น ด้วยระยะทางหกพันกว่ากิโลเมตร Writder จึงใช้โอกาสนี้พิสูจน์รถไปในตัวด้วยเลย คราวนี้จึงอัพเกรดจากGPX LEGEND200 ขึ้นเป็น GPX LEGEND 250 Twin รับรถมาแล้วก็มาเตรียมรถให้พร้อมเดินทางกันเถอะ

ก่อนอื่น การเดินทางไกลขนาดนี้ กับถนนหนทางที่ยังไม่ค่อยดีในบางจุด ขืนฝืนขี่แฮนด์จับโช๊คที่ติดรถมานี่น่าจะเหนื่อยเกินไป จัดการเปลี่ยนเป็นแฮนด์บาร์เสียก่อน

สัมภาระที่ต้องเดินทางไม่น้อยกว่าสิบวัน ต้องขนเพิ่มแบบนี้ เลยลองเอาแรคที่สร้างมาใช้ในทริปกัมพูชามาใส่ดู แน่นอนว่าสัดส่วนเดียวกันเป๊ะ ใส่ได้แน่….แต่มันดูยังไม่พอ จะมัดกระเป๋าไปอีก…ในดินแดนที่ยังไม่คุ้นเคย จะปลอดภัยไหม…

ตัดสินใจขี่มาที่สำนัก Tor Adventure

ลองเอาปี๊บมาทาบดู เออ เข้าท่านะ

เก็บของได้ประมาณนึง เมื่อเทียบกับขนาดรถแล้ว มันลงตัว

หลังจากนั้นก็ใช้เวลาไม่กี่วัน สร้างแรคตัวต้นแบบของรถรุ่นนี้ขึ้นมาใหม่ เสร็จสมบูรณ์แล้ว ลงตัวสุดๆ

เพื่อให้ได้ภาพตามที่หวังไว้ จัดการไปยืมกล้องและเลนส์จาก Olympus Thailand https://www.facebook.com/olympusthailand/ มาสนับสนุนการบันทึกภาพ

โปรแกรมการเดินทางของทริปนี้ จัดโดย BB Travel World https://www.facebook.com/BBTravelWorld/

DAY ….1 บางกอก > บ้านดอน > แม่สอด ระยะทาง……560Km

มื่อทุกอย่างพร้อม ถึงวันเดินทาง เก็บของมัดกระเป๋าออกจากบ้านหนองแขมไปทางนครปฐม จัดขาหมูเจ้าประจำ เน้นๆไส้ อิอิ

ไปเป็นสิบวัน แวะมาชื่นใจก่อนเดินทาง ทำหน้ามุ่ยเชียว เหมือนรู้ว่าปะป๊าจะไปหลายวัน 

กว่าจะออกจากบ้านโมโตก็บ่ายโมงแล้ว จากนั้นก็รูดยาวๆ แวะกินกาแฟที่บางจากเลี่ยงเมืองนครสวรรค์นิดหน่อย กว่าจะถึงแม่สอดก็มืดพอดี

DAY 2 … แม่สอด => เมียวดี  မြဝတီ => พระธาตุอินทร์แขวน ကျိုက်ထီးရိုးဘုရာ

ระยะทาง…327Km

ตื่นเช้ามาก็เตรียมตัวเดินทางกัน ก่อนเคลื่อนพลตามมาตรฐานของฮอปอินแม่สอดจะมีอาหารเช้ารวมอยู่ในราคาที่พักด้วย ถึงจะเป็นแบบมาตรฐานแต่ก็คุ้มค่าในราคาที่โอเค

ก่อนล้อหมุนโชว์พลังเรียกขวัญกำลังใจสักหน่อย เอาจริงๆยอมรับว่า “ตื่นเต้น”กับการเดินทางครั้งนี้มาก เพราะไม่บ่อยและน้อยมากที่ผมจะได้ขี่เป็นขบวนร่วมกับท่านอื่นๆที่ส่วนมากไม่เคยขี่ด้วยกัน พูดง่ายๆว่าไม่รู้มือ ไม่รู้นิสัยใจคอกันมาก่อน (งานของผมเวลาไปขี่รถทดสอบแบบออกทริปกับสื่อท่านอื่นๆส่วนมากคือเราจะรู้มือกันดี) ใครจะขี่ยังไงแบบไหน ใครจะอยู่ตำแหน่งไหนในขบวน ต้องมาว่ากันใหม่ตามความเหมาะสม เรื่องพวกนี้สำคัญมากๆ เพราะการเดินทางไกลเป็นสิบวันติดต่อกันไปในถนนหนทางที่ไม่คุ้นเคย ต่างที่ต่างถิ่นต่างภาษา หนึ่งในสิ่งที่จะทำให้รอดปลอดภัยได้นั้น นอกจากทักษะในการเอาตัวรอดแล้ว ยังจะต้องพึ่งพาความร่วมมือในการขับขี่เป็นขบวนของผู้ร่วมทริปทั้งหมดประกอบกันไปด้วย

เอ้า ฮึ๊บ!!สู้ว๊อยยยยยยยยย

ผ่านมาทางนี้ ไม่อยากพลาดที่จะมาบันทึกความทรงจำเอาไว้สักหน่อยกับป้ายสุดประจิมที่ริมเมย (จริงๆอยากให้ออกแบบให้มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมากกว่านี้สักหน่อยนะ)

เสร็จแล้วก็มารวมกันที่ด่านเพื่อเตรียมตัวข้ามแดน พวกเอกสารและขั้นตอนต่างๆ การจัดการในการเดินทางทั้งหมด ผ่านการอำนวยความสะดวกโดย https://www.facebook.com/BBTravelWorld/ ทั้งสะดวกและลดขั้นตอนไปได้เยอะเลย

ไกด์สาวของเรา “น้องนวล” จ้าาาาาาาาาาาาาา

จัดการเอากระดาษมาปิดทับป้ายทะเบียนไทย กระดาษนี้จะช่วยยืนยันตัวตนของการได้รับอนุญาตให้ขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยวในเมียนมาร์ตามเส้นทางที่กำหนด และต้องได้รับการอนุญาตผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาลเมียนมาร์ที่เนปิดอว์ก่อนเท่านั้น จู่ๆจะขี่มาที่แม่สอดแล้วมาขอข้ามไม่ได้นะจ๊ะ ต้องทำเรื่องแจ้งขออนุมัติล่วงหน้าจ้า

แต่…แอบฮานิดหน่อยนะ๕๕๕

เอกสารเรียบร้อย ผ่านพิธีการข้ามแดนโดยบริบูรณ์ ขี่ผ่านตัวเมืองเมียวดี  မြဝတီ Myawaddy (คนพื้นเมืองเรียก “”บะล้ำบะตี๋”)  ที่ตั้งอยู่ในรัฐกระเหรี่ยง ကရင် กันไปแบบสบายๆ เพราะมีรถตำรวจท่องเที่ยวของเมียนมาร์เปิดไซเรนขับนำผ่ากลางเมืองไปแบบ VIP.

ดักถ่ายรูปมุมบนสะพานกันสักหน่อย อ่อ…ถึงตรงนี้คงไม่ต้องบอกแล้วมั้งว่าทริปนี้ Writder รับหน้าที่ช่างภาพ๕๕

ลงสะพานมา ก็มาจอดรอเพื่อนๆกันหน่อย เพราะถนนพังๆเนี่ยขี่ลำบาก แซงยาก มันก็ต้องมีคันที่เร็วคันที่ช้า รอบนี้เจอปัญหาปลายบังโคลนหน้าของวีกะปอมหกครึ่งแหย่เข้าไปในแครชบาร์จนทำให้หักเลี้ยวไม่ได้ (ใช้ช่วงยุบของโช๊คหน้ากันขนาดไหนอะคิดดู วิธีแก้ก็ส่งช่างจำเป็นประจำทริปวิ่งย้อนไปถอดบังโคลนหน้าวิ่งกันชั่วคราว ก็เลยจอดรอกันนานหน่อย ระหว่างรอก็กินจุบกินจิบกันไป แอ๊วแม่ค้ากันไป อิอิ

หลุดช่วงทำถนนมาได้ ก็เจอลาดยางยาวๆไปทานมื้อเที่ยงที่พะอาน   ဘားအံ  Hpa-An ที่เป็นเมืองหลักของรัฐกระเหรี่ยง

ช่วงบ่ายๆก็รูดยาวๆไปเข้าที่พักแถวๆทางขึ้นไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน

ขี่ข้ามแม่น้ำสาละวิน သံလွင်မြစ် Salween River  ที่อยู่ทิศคะวันตกของเมืองพะอาน

ต่อรถหกล้อขึ้นไปข้างบน(ไม่อนุญาตให้นำพาหนะส่วนตัวขับขี่ขึ้นไปเอง) อารมณ์คล้ายๆนั่งสองแถวขึ้นเขาคิชฌกูฎ แต่ที่นี่รถคันใหญ่กว่า แรงกว่า ผลลัพธ์คือเสียวกว่า

ผ่านระยะทางกว่า 12 กิโลเมตรของถนนทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนที่คดเคี้ยวและลาดชันมาถึงข้างบนแล้ว ต้องลงจากรถที่ยาเตตองเป็นจุดสุดท้ายที่อนุญาตให้พาหนะที่บรรทุกนักท่องเที่ยวขึ้นมาถึงได้ เราก็ยังต้องเดินกันต่ออีกประมาณหนึ่ง ไกลนิดหน่อย แต่สองข้างทางก็ทำให้เราเพลินๆไป

พระธาตุไจที่โย่ ကျိုက်ထီးရိုးဘုရား (Golden Rock-Kyaikhtiyo) ที่คนไทยมักเรียกติดปากว่า “พระธาตุอินทร์แขวน”
ก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หมิ่นเหม่ออกไปกว่าครึ่งก้อนบนยอดเขาพวงลวงอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งตัวก้อนหินและหน้าผาที่เป็นฐานนั้นแยกส่วนเป็นอิสระออกจากกันคล้ายจะร่วงหล่นลงมาได้ทุกขณะ ที่ความสูงกว่า1,200เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเมืองไจโท อำเภอสะเทิม  รัฐมอญ เมียนมาร์ ถือเป็นหนึ่งในห้ามหาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมาร์ศรัทธาอย่างที่สุด

หมายเหตุ5 มหาบูชาที่ชาวเมียนมาร์ถือว่าต้องไปสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต ได้แก่
1. มหาเจดีย์ชเวดากอง ย่างกุ้ง
2. เจดีย์ชเวซิกอง พุกาม
3. เจดีย์ชเวมอดอร์ หงสาวดี
4. พระมหามัยมุนี มัณฑะเลย์
5. พระธาตุอินทร์แขวน “ไจก์ทิโย” เมืองไจก์โถ่ รัฐมอญ

ตามความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุสิบสองนักษัตรของชาวล้านนา นั้น “พระธาตุอินทร์แขวน” สมมติให้เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีจอโดยอนุโลม เนื่องจากพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ในส่วนของตำนานความเชื่อเกี่ยวกับ”พระธาตุอินทร์แขวน” นั้น คงต้องขอละเอาไว้ในฐานที่น่าจะไปสืบค้นกันเองได้ไม่ยาก หากจะยกมากล่าวก็เกรงจะไม่เป็นเนื้อหาสาระหลักแต่อย่างใด

แต่ในฐานะของอินเดียน่าโอม นั้น สิ่งที่สัมผัสได้จาก”พระธาตุอินทร์แขวน” หาใช่เรื่องเล่าหรือความศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานใดๆไม่ แต่คือการสัมผัสได้ถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวเมียนมาร์ หรือจากน้กเดินทางต่างแดนที่แวะเวียนกันมาสักการะบูชา ณ ที่แห่งนี้ ทำให้สถานที่นี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานด้านบวก คละคลุ้งไปด้วยพลังงานแห่งความหวัง การได้กราบสักการะสิ่งนี้ช่วยเติมพลังงานบางอย่างในตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว จนต้องสัญญากับตัวเองว่า จะกลับมายังที่แห่งนี้อีกครั้งอย่างแน่นอน

เหนื่อยมาทั้งวัน มื้อเย็นกับเก๊กฮวยเย็นๆสักแก้ว….อืมมมมมมห์ รสดี!!

Day…3 พระธาตุอินทร์แขวน(พระธาตุไจที่โย่) ကျိုက်ထီးရိုးဘုရာ ===> เนปยีดอว์  နေပြည်တော်,  Naypyidaw, Nay Pyi Taw

ระยะทาง..400Km

วันนี้เราจะขี่จากรัฐมอญเพื่อไปเที่ยวชมและพักผ่อนที่ “เนปยีดอ”  နေပြည်တော်,  Naypyidaw, Nay Pyi Taw เมืองหลวงแห่งใหม่ของเมียนมาร์  แม้ระยะทางวันนี้จะประมาณสี่ร้อยกิโลเมตร และไม่มีทางที่กำลังทำ แต่ด้วยถนนที่ไม่กว้างและไม่ได้สะดวกสบายนัก กว่าจะถึงเนปียดอว์ก็ปาเข้าไปบ่ายสาม

ห้ไกด์นวลของคร่อมเจ้าLegend250 twin สักหน่อย คือไกด์นวลของเรานี่ชอบมอเตอร์ไซค์มากๆ

จากรูปนี้จะเห็นได้ว่าระดับของปี๊บด้านซ้ายมันโย้ไปนิดหน่อย

เมื่อวานในทางเถื่อนที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุง สารรูปว่าล้มไปทีนึง55+ แต่แทบไม่เป็นอะไรเลย ต้องบอกเลยว่าปี๊บทำหน้าที่เสมือนกันล้มด้านข้างได้อย่างดี มีรอยแค่ที่เห็นนี่แหละโยม ส่วนไอ่ที่โย้ๆก็ไม่มีผลต่อการขับขี่หรือประสิทธิภาพในการแบกของแต่อย่างใด อุ่บร่ะ!!ทนจริงอะไรจริง (ลงทุนรีวิวด้วยการทดสอบล้มเลยใช่ไหม๕๕)

สเน่ห์สาวฝั่งนี้นี่ไม่เบาเลยนะ

หน้าที่ของช่างภาพ บางครั้งคือชู๊ตออกไปยาวๆไปดักรอถ่ายบรรยากาศของขบวน ทำให้การเดินทางกว่าครึ่งไม่ได้อยู่ในขบวนแบบชาวบ้านเขา ซึ่งก็ต้องนัดแนะเส้นทางกับไกด์ให้ดี ว่าจากนี่ไปข้างหน้าอีกไกลไหมกว่าจะถึงทางแยก ซึ่งความไม่คุ้นเคยในการสื่อสารบางครั้งก็ทำเอางงๆเหมือนกัน เช่น ฝั่งนี้เขาจะไม่ถามกันว่าอีกกี่กิโลจะถึงที่นี่ที่นั่น แต่จะถามว่าใช้เวลาประมาณเท่าไร ซึ่งก็เออ จริงๆมันก็ชัดเจนกว่าในอีกนัยหนึ่งเหมิอนกันนะ อีกอย่างคือไกด์ฝั่งนี้เขาไม่คุ้นกับคาราวานมอเตอร์ไซค์สักเท่าไร

และยิ่งมากันเยอะๆจากฝั่งไทยแบบนี้ ไกด์ก็บอกเลยว่านี่ก็งานแรกเหมือนกันที่จัดให้คาราวานแบบนี้ และยิ่งมาเจอคาราวานที่มีช่างภาพสายบ้าพลังด้วยก็เลยยิ่งงงไปกันใหญ่ แรกๆไกด์ก็งงๆว่าไอบ้านี่จะวิ่งแซงขบวนไปดักรอไกลๆทำไมหว่า ไกด์ก็ไม่ค่อยอยากให้ไป เพราะมองว่าอันตราย ปรับจูนกันหลายวันอยู่กว่าจะเข้าใจ555+ แต่หน้าที่นี้ก็ทำให้มีโอกาสได้ขับขี่อย่างอิสระกว่าคนอื่นๆในขบวน มีความรู้สึกว่าได้ผจญภัยตามลำพังบ้างมันก็เร้าใจกว่า มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย …เพราะเรียกได้ว่าช่วงที่อยู่คันเดียว มีอะไรก็ต้องเอาตัวรอดเองคนเดียวเหมือนกัน แต่ถ้าอยู่ในขบวนก็ยังมีรถเซอร์วิสเปิดไซเรนเล็กๆวิ่งนำให้สิ่งแวดล้อมระวังเราอยู่ประมาณนึงบวกกับขนาดของขบวนยี่สิบกว่าคันเนี่ย ไปไหนมาไหนมันเด่นจนชาวบ้านเขาต้องระวังเราแหละ

ในภาพนี่ก็ส่งสัญญานบอกขบวนว่าจะไปรอถ่ายนอกเมืองนะ ก็ชู๊ตมารออยู่ประมาณสิบนาที ระหว่างนั้นก็ต้องคอยฟัง วอแดงของรถเซอร์วิสตลอด

อนุเสาวรีย์ของนายพลอองซาน “วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า” กล่าวได้ว่าถ้านายพลอองซานไม่ถูกลอบสังหาร สนธิสัญญาปางโหลงก็ยังดำเนินต่อไป เมียนมาร์ก็อาจไม่ใช่อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ก็เป็นได้ เราอาจเห็นเมียรมาร์แบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ทั้งพม่า มอญ ฉาน กระเหรี่ยง คะยิ่น ฯลฯ ในฐานะคนไทยก็คงไม่อาจวิจารณ์ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องภายในของเขาต่อไป แต่อย่างน้อยก็แอบหวังว่าให้ทุกชาติพันธ์ได้อยู่อย่างสงบและสันติโดยเร็ว เราจะได้ข้ามไปเที่ยวได้สะดวกๆ ข้ามไปถึงอินเดียได้ก็ยิ่งดีเลยเนอะ

เข้าที่พักที่เนปยีดอ หรูหราโอ่อาเลยเชียว

แวะไปเที่ยวกันต่อที่เจดีย์อุปปาตะสันติ ဥပ္ပါတသန္တိစေတီတော်မြတ်ကြီ (Uppatasanti Pagoda) หรืออีกหนึ่งชื่อเรียกว่าเจดีย์แห่งสันติภาพ สร้างขึ้นเพื่อเสมือนหลักของเนปยีดอเมืองหลวงปัจจุบันของเมียนมาร์ และเพื่อป้องกันเมียนมาร์จากเภทภัยทั้งปวง เป็นองค์พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่สถาปัตยกรรมขององค์พระเจดีย์อุปปาตะสันติ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง ရွှေတိဂုံစေတီတော်ในเมืองย่างกุ้ง สูง 99 เมตร (325 ฟุต) โดยลดสัดส่วนความสูงลงลงหนึ่งฟุตจากต้นแบบเพื่อแสดงความเคารพต่อมหาเจดีย์ชเวดากอง (ทาองค์เจดีย์ด้วยสีทอง ซึ่งต่างจากต้นแบบที่บุด้วยแผ่นทองคำทั้งองค์) เจดีย์อุปปาตะสันติ ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาเพื่อให้มองเห็นเด่นสง่าอย่างอลังการได้จากระยะไกล

แวะเตินน้ำมันให้เต็มถังกันที่ปั้มที่ดูแล้วน่าจะใหญ่และทันสมัยที่สุดในเนปยีดอ

legend

ทานมื้อเย็นร่วมกัน

Day 4… เนปยีดอ နေပြည်တော်,  Naypyidaw, Nay Pyi Taw > พุกาม ပုဂံ

…330กิโลเมตร

หลังจากพักผ่อนสบายๆในโรงแรมระดับสี่ดาวของเนปยีดอแล้ว เรียกได้เลือดเขียวเต็มหลอด ถึงเวลาออกเดินทางไปพุกาม ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์สุดยอดของการเดินทางในครั้งนี้ ระยะทางวันนี้ประมาณ 330 กิโลเมตร (ตามแผนการเดินทางแค่ 270 แต่เอาจริงๆดูจากทางที่ไปวิ่งไปสามร้อยกว่า )

ก่อนออกจากเนปยีดอ ทางที่จะไปคล้ายๆจะวนรอบเมืองอีกครึ่งรอบ แถมยังมาผ่านถนนยี่สิบเลนอีกรอบ เมื่อวานเป็นช่างภาพอยู่ท้ายรถเซอร์วิส รอบนี้ต้องแว้บถ่ายแบบกองโจร อิอิ

ก่อนออกจากเมืองก็แวะปั้มอีกนิดหน่อย

ออกจากเนปยีดอมาได้สักยี่สิบกิโลเมตร ก็เริ่มเข้าเขตภูเขา จากตรงนี้ความแห้งแล้งของพื้นที่ภาคกลางของเมียนมาร์เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น แต่ความงามในหน้าแล้งนั้นก็สวยงามไปอีกแบบ (อยากลองมาทุกฤดูเลยเนี่ย) ถนนสวยๆเพียบเลย ถ้าเอาภาพทั้งหมดมาลงนี่เกรงจะโหลดกันกระทู้ล่ม ๕๕๕ เอาภาพไปชมบางส่วนก็แล้วกันนะ

จากนั้นเราแวะทานมื้อเที่ยงกันที่เมืองมะกเว,มะกวย ,မကွေ , Magway เจ้าของร้านขี่บิ๊กไบค์ออกมารับเราที่นอกเมืองเพื่อน้ำไปที่ร้าน อาหารร้านนี้นับว่าถูกปากคนไทย ซัดกันซะพุงกางเลย

ออกจากมกเว เราก็ยังวิ่งอยู่บนพื้นที่แห้งแล้ง แวะกินน้ำกันเป็นระยะๆ แต่วิวแล้งๆนี่ก็สวยเหลือเกิน

วิ่งข้ามสะพานใหญ่ๆนึกว่าเป็นแม่น้ำ แต่จริงๆแล้วสร้างไว้ข้ามจุดที่น้ำหลากในฤดูฝนเท่านั้น โอ้โห…

ภูมิประเทศแบบนี้ ต้องไปเห็นด้วยตาตัวเอง ไม่น่าจะมีในไทยนะเท่าที่เดินทางมา

แล้วเราก็มาถึงเมืองเยนานช่อง ရေနံချောင် (แปลว่าธารน้ำมัน) เมืองเล็กๆที่ดูไม่มีอะไร แต่มีอะไรที่แปลกตาไม่น้อย ด้วยเป็นเมืองที่มีแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดย่อมๆไปถึงกลางๆกระจายไปทั่วในหลายๆพื้นที่ของเมือง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแท่นร้างตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าที่นี่ชาวบ้านสามารถขุดแล้วตักน้ำมันดิบจากหน้าผิวดินได้เลยทีเดียว แต่ปัจจุบันได้ข่าวว่าสัมปทานน้ำมันในพื้นที่นี้ถูกเซ้งไปเรียบร้อยโรงเรียนพี่จีนแล้วจ้า ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ๆมีทองคำสีดำขนาดนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเมืองนี้เมื่อเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวแล้วนับว่ายากจนที่สุดในเมียนมาร์ เพราะชาวบ้านหาได้มีส่วนกับสัปทานน้ำมันใดๆเลย ได้แต่ใช้แรงงานทำถนน ปลูกถั่วปลูกงาขายประทังชีพไปเท่านั้น

เส้นทางระหว่างมกเวมาที่เยนันชองนั้นแห้งแล้งมาก (dry zone) เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีทั้งไม้พุ่ม ไม้หนามและตะบองเพชร (ตามสถิติแล้วปีหนึ่งฝนตกไม่ถึงสิบวัน) แล้งถึงขนาดต้องขุดทรายตรงที่เป็นจุดที่น้ำหลากเพื่อหาน้ำโดยให้ทรายค่อยๆซึมมาให้ตักไปใช้สอย ภูมิประเทศแบบนี้ดูด้วยสายตานี่จัดแข่งแรลลี่แบบปารีสดักการ์ได้สวยๆเลยล่ะ

เป็นอีกที่ๆหมายมั่นไว้ว่าจะต้องกลับมาเจาะพื้นที่นี้อีกทีให้ได้!!

จากเยนันชอง เรามุ่งขึ้นตะวันออกเฉียงเหนือนิดๆแล้วบิดกลับมาทางเหนืออีกหน่อย ท่ามกลางทัศนียภาพที่แห้งแล้งนั้น ไม่น่าเชื่อว่านี่คือบริเวณหนึ่งของลุ่มน้ำอิรวดีที่อุดมสมบูรณ์ขนาดที่สามารถตั้งเมืองแห่งอารยที่รวบรวบแผ่นดินในยุคโบราณตั้งเป็นอาณาจักรที่ถือว่าเป็นปึกแผ่นอาณาจักรแรกๆของพม่าได้เลย

หลังจากที่ซีรียส์อินเดียน่าโอมเคยพาทุกท่านขี่ GPX LEGEND 200 ผ่านประตูมิติแห่งกาลเวลาที่เสียมเรียบไปแล้ว เพลานี้ก็ถึงเวลาของประตูมิติแห่งกาลเวลาอีกแห่งที่พุกาม กับ GPX LEGEND 250 Twin เราได้ภาพนี้ถึงจะไม่สวยงามอะไร แต่มันก็แฝงนัยที่เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกการเดินทางครั้งหนึ่งในชีวิตของไรเดอร์ไส้แห้งคนหนึ่งได้เป็นที่สุดในชีวีตกับภาพธรรมดาๆที่ปราศจากมุมกล้องเทพๆหรือเทคนิคสวยๆ แต่มันคือช่วงเวลาแห่งอารมณ์ในความปิติยินดี

จอดรถวางเครื่องแต่งกาย แล้วเราก็เดินเข้าสู่เจดีย์แรกที่มาเยือนในยามเย็น ด่านแรกเราก็เจอเข้ากับสิ่งนี้ แต่เราก็ยินดีปะทะด้วยความเต็มใจ

กล่าวกันว่าที่มาของชื่อสมุนไพรที่เราจะเห็นทาไว้ที่แก้มและหน้าผากกันเกลื่อนเมืองนั้น เกิดจากเมื่ออดีตนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มแรกๆที่มาเยือน เมื่อเจอสาวๆจะเอาอะไรมาทาที่แก้มให้ก็ขวยเขิล บิดไปบิดมาด้วยจริตจะก้าน จนสาวๆที่ฝึกภาษาไทยมาไว้คุยกับนักท่องเที่ยวพูดคะยั้นคอยอนรธาด้วยสำเนียงเพี้ยนๆแปร่งๆว่า

ทานะค่า ทานะค่า …

เมื่อกล่าวกันปากต่อปากมาเรื่อยๆก็เพี้ยนแผลงมาเป็นคำว่า “ทานาคา”ในปัจจุบัน

โอ๊ยยยยยยย ใช่เหรอ!!!๕๕๕

“เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม” เป็นคำกล่าวที่ใช้ยกย่องสถาปัตยกรรมของ  อานานดาพะย่า, อนันดากู่พยา, วัดอนันดา หรือ วัดอานนท์  အာနန္ဒာဘုရား, Ananda Temple สร้างใน ใน พ.ศ. 1633 ซึ่งอยู่ในรัชกาลของ พระเจ้าจานซิตา, หรือพระเจ้าญานสิทธา (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1672-1655) กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรพุกาม ถัดจากพระเจ้าอโนรธามังช่อ และ พระเจ้าซอลู เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนถ้ำนันทมูล  (Nandamula) บนเขาคันธมาทน์ สันฐานของอานานดาพะย่าสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 66 เมตร มีความสูงจากพื้นถึงยอดเจดีย์ประธาน 56 เมตร มีมุกวิหารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน พร้อมประตูทางเข้าออกทั้ง 4 ด้าน สูง 12 เมตร (ประตูไม้ทั้งสี่ด้านสร้างถวายโดยพระเจ้าบุเรงนอง) หลังคาคลุมลดหลั่นซ้อนกัน 3 ชั้น  มุมมองรวมเมื่อมองรวมทั้งตัวเจดีย์และมุกวิหารทั้งสี่ด้าน เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นลักษณะเป็นไม้กางเขน ตรงกลางวิหารชั้นล่างก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละด้านทำเป็นโถงประดิษฐานพระพุทธรูปยืน 4 องค์ในภัทรกัล์ป ในทั้งสี่ทิศ แต่ละองค์สูงราว 9.5 เมตร แกะสลักจากไม้สักทั้งองค์ ได้แก่

ทิศเหนือ  พระกกุสันธพุทธเจ้า
ทิศตะวันออก พระโกนาคมนพุทธเจ้า
ทิศใต้ พระกัสสปพุทธเจ้า
ทิศตะวันตก พระโคตมพุทธเจ้า

แต่ละมุมของส่วนที่เป็นเจดีย์ประธานจะมีมีเจดีย์ที่ตรงหัวมุมของหลังคาเรียงรายอยู่เจดีย์เล็กตั้งอยู่บนทั้งสี่มุม เหนือหลังคามีฐาน 3 ชั้นซ้อนรองรับ ยอดเจดีย์ทรงระฆัง เล่าต่อกันมาว่าหลังจากช่างฝีมือทั้งหมดที่สร้างเจดีย์นี้จนเสร็จนั้นล้วนถูกสั่งประหารจนสิ้น เพื่อคงความงดงามนี้ไว้ให้มีเพียงหนึ่งเดียว และถือได้ว่า “อานานดาพะย่า” เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมพม่าในยุคต้นของพุกาม

วัดที่โลมี่นโล, ติโลมินโล ထီးလိုမင်းလိုဘုရား,  (Htilominlo Temple) เล่ากันว่า พระเจ้านรปติสิทธู รัชกาลที่ 7 แห่งอาณาจักรพุกาม
มีพระราชโอรส 5 คน ที่ประสูติแต่อัครมเหสีและพระชายา ติดขัดข้องใจไม่รู้จะให้พระโอรสองค์สืบทอดราชบัลลังก์ เนื่องจากเคยรับปากหนึ่งในพระชายาองค์หนึ่งที่เคยปรนิบัติพระองค์เมื่อยามประชวรเอาไว้ว่า จะมอบราชสมบัติแก่ราชโอรสที่เกิดจากชายาท่านนี้ น้ำท่วมปากลำบากใจ กษัตริย์ไหนเลยจะคืนคำ จึงยกให้เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิตให้เทพเทวาที่อยู่เหนือพระเจ้าแผ่นดินขึ้นไปเป็นผู้ตัดสิน จัดการตั้งพิธีด้วยเอาฉัตรมาวางไว้กลางวงที่ล้อมด้วยราชโอรสทั้งห้า หากบุญญาธิการใครสูงเทียมฟ้า ฉัตรล้มปุ๊ไปทางราชโอรสพระองค์ใด ก็สืบสิริราชสมบัติต่อจากพระเจ้านรปติสิทธูสืบไป (ติโลมินโล แปลว่า ฉัตรตั้ง) ฉัตรนั้นได้ล้มไปทางเจ้าชายชัยสิงห์ (พระเจ้าไชยสิงขะ ) ဇေယျသိင်္ หรือพระเจ้าติโลมินโล

“วิหารติโลมินโล” สร้างแบบก่ออิฐถือปูน กว้างด้านละ 43 เมตร สูงสามชั้นลัดเหลื่อมกันขึ้นไป องค์เจดีย์สูงจากพื้นถึงยอด 46 เมตร ภายในวิหารมีช่องบันไดให้ไต่ขึ้นสู่ระเบียงด้านบน หากกล่าวได้ว่าวัดอนันดาเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบพุกามแล้ว “วิหารติโลมินโล” นั้นก็นับเป็นวิหารสุดท้ายที่สร้างในสถาปัตกรรมแบบพุกามเช่นกัน

สองรูปนี้ขอแต่งสีนิดหน่อย

เมื่ออัสดงใกล้จะปลิดปลงลงขอบฟ้าประจิม คาราวานของเราก็มุ่งหน้าไปยังสถานที่ๆจะเราจะไปชมทะเลเจดีย์แห่งบรรพกาล ภาพของหนทางที่คล้ายทะเลทราย รายล้อมไปด้วยเจดีย์เกินคนานับ ที่คละคลุ้งไปด้วยฝุ่นและแสงที่เริ่มบางเบากับวิวสองข้างทาง ประหนึ่งว่าเรากำลังขี่อาชายนต์อยู่กึ่งกลางห้วงมหรรณพแห่งกาลเวลาย้อนไปในอดีตกาล ยอมรับว่าเป็นภาพจำที่จะติดตาตรึงใจไปตราบนานเท่านาน

บนหอคอยที่สูงล้ำริมขอบของทะเลเจดีย์ที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เสียงชัตเตอร์นับไม่ถ้วนรัวขึ้นรายรอบ จนไม่อาจแยกสำเนียงได้ว่าเป็นเสียงจากกล้องค่ายไหน มือถือยี่ห้ออะไร

พร้อมเสียงอุทานพึมพัมๆเบาๆหลากหลายภาษา แม้บางภาษาจะฟังไม่ออก บางภาษาจะฟังออกบ้าง

หากจับใจความได้ว่าเจ้าของเสียงกำลังสื่อสารกับตัวเองด้วยอารมณ์ตื่นตะลึงกับความอัศจรรย์ของทะเลเจดีย์ในเบื้องหน้า

สุริยันที่กำลังลัดเหลื่อมลงที่ขอบฟ้า เพิ่มองศาของแสงให้อุ่นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแสงที่กระทบไปยังเจดีย์นับร้อย นับพัน

ปรากฎภาษาสากลด้วยดุษณีภาพแห่งความงามมลังมะเลืองของโบราณสถานที่ยืนหยัดมาจากอดีตกาลร่วมพันปี

ชวนให้หลับตาลงสักช่วงอึดใจแล้วจินตนาการถึงปางบรรพ์ ยามที่ผู้คนในอาณาจักรแห่งนี้ยังเคลื่อนไหวกันขวั่กไข่ว

ยามที่พระชินอรหันต์เดินทางจากสะเทิมมาเผยแผ่พุทธศาสนาให้ผู้คนในดินแดนนี้ละลดการนับผีถือนัต

ยามที่อโนรธามังช่อกรีฑาทัพออกไปรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเพื่อก่อร่างสร้างราชอาณาจักร

ยามที่ศรัทธาอันบริสุทธิ์ของพุทธศาสนิกร่วมกันแบกหามก่ออิฐถือปูนสร้างเจดีย์มหาศาล

กลางทะเลทรายที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ฟ้าฝนลมแดดยังไม่ทำให้การผุพังเกิดขึ้นเร็วเกินไปนัก

แม้อาณาจักรพุกามจะดำเนินไปจนเลือนหายไปจากพลวัตรของอารยธรรมแล้ว

แต่การสืบทอดวัฒนต่างๆนั้นยังคงปรากฎและส่งอิทธิพลไปรอบๆจนถึงปัจจุบันกาล

เราเชื่อโดยสนิทใจว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะมาเยือนสถานที่แห่งนี้

เราหวังโดยบริสุทธิ์ใจว่าจะมีโอกาสได้กลับมาเยือนยลทะเลเจดีย์แห่งนี้อีกหลายๆครั้ง

ให้ดำดิ่ง ให้ต้องภวังค์ ให้ทราบซึ้งและซึมซับ แปรเปลี่ยนเป็นพลังสู่อนาคตกาล

อิรวดีโปรดเป็นพยานว่าอินเดียน่าโอมจะกลับมาลุยที่นี่อีกแน่นอน

อาร์โนลด์ โจเซฟ ทอยน์บี (Arnold Joseph Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “การได้เห็นพุกามย่อมมีชีวิตเป็นอมตะ การได้เห็นนครวัดย่อมนอนตายตาหลับ” “See Bagan and live, See Angkor Wat and die

ณ ดินแดนที่เป็นแอ่งแห้งแล้งกึ่งทะเลทรายในลุ่มน้ำอิรวดี(เอยาวดี), ဧရာဝတီမြစ် แรกเริ่มเดิมทีเป็นชุมชนเล็ก ๆ ริมทิศตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี  เป็นที่อยู่ของชาวผิวซึ่งเป็นชนพื้นเมืองมาก่อน จากนั้นมาจึงปรากฎราชธานีแห่งแรกที่นับเป็นจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของชนชาติพม่า แม้พระเจ้าธรรมธาริตจะเป็นผู้เริ่มก่อตั้งอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อ คศ.107 แต่หลักจากการชิงสมบัติกันไปมาในราชวงศ์พม่ายุคต้นในหลายๆรัชกาล ก็ยังนับว่าดินแดนพุกาม (คนไทยเรียกพุกาม คนพม่าเรียกบากัน Bagan) ยังไม่ได้รุ่งเรืองนัก นักประวัติศาสตร์จึงนับให้สมัยของ พระเจ้าอโนรธามังช่อ ราว พ.ศ. 1587 -1620 เป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจของอาณาจักรพุกาม ด้วยความที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ ทรงริเริ่มจะรับพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ในขณะนั้นแพร่หลายอยู่ในเมืองสะเทิมดินแดนของมอญที่มาอาศัยอยู่ทางใต้ลงไปอีกตั้งแต่เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และมอญก็ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สอง แต่หากจะกล่าวไปแล้ว ดินแดนแถบนี้ในเวลานั้นหลากหลายไปด้วยหลายชาติพันธ์ที่เชื่อกันว่าอพยพลงมาจากทิเบตของแผ่นดินจีนพวกหนึ่งลงไปทางลุ่มแม่น้ำโขงทางตะวันออกแตกออกเป็นอารยธรรม “ขอม” และ “ล้านช้าง” อีกพวกหนึ่งอพยพลงมาทางลุ่มแม่น้ำอิรวดี แตกออกเป็นพวก “พยุ” บ้าง พวก “ม่าน” บ้าง พวก “อารากัน” บ้าง แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาที่อพยพและถิ่นฐานที่ปักหลักสร้างบ้านแปลงเมือง แต่ก็นับว่าเป็นเชื้อสายเดียวกันที่อพยพลงมาจากทิเบต

จากการที่ พระเจ้าอโนรธามังช่อ ต้องการให้พุกามเลิกถือนัตถือผี จึงส่งราชสาสน์ไปขอพระไตรปิฏกจาก พระเจ้ามนู ซึ่งปกครองมอญในเวลานั้น แต่ พระเจ้ามนู  ทรงปฏิเสธ เป็นเหตุให้ พระเจ้าอโนรธามังช่อ ยกไพร่พลไปตีมอญที่สะเทิม และได้นำ พระเจ้ามนู พร้อมบริวารชาวมอญเทครัวมาควบคุมไว้ที่พุกามด้วย รวมไปถึงรับเอาวัฒนธรรมของพุทธศาสนามาจากมอญ และรับเอาวัฒนธรรมต่างๆจากมอญเข้ามาไว้ในราชสำนักพุกาม ซึ่งรวมไปถึงคติเทวราชาที่ให้พรามณ์เป็นสื่อกลางกับเทพเจ้าในการสถาปนาอำนาจการปกครองให้กษัตริย์เป็นสมมติเทพ เป็นภาคหนึ่งของพระเจ้าที่มาอยู่บนแผ่นดิน และ พระเจ้าอโนรธามังช่อได้อัญเชิญพระชินอรหันต์จากมอญมาเผยแพร่พุทธศาสนา ดังนี้ เมื่อแผ่นดินพุกามมั่นคงเป็นปึกแผ่นแล้ว พระเจ้าอโนรธามังช่อ จึงสถาปนาชื่ออย่างเป็นทางการของพุกามว่า “ตะริมันตระปุระ” (အရိမဒ္ဒနာပူရ; หมายความว่า เมืองที่ปราบศัตรูราบคาบ)

หลังจากที่อาณาจักรพุกามรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรพุกามแล้ว กษัตริย์ทุกพระองค์รวมไปถึงราชวงศ์และขุนนางหรือแม้แต่คหบดี นิยมสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นพุทธบูชาด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ตามปรากฎในจารึกที่เจดีย์ชเวกูจีของพระเจ้าอลองซีตู ความว่า “การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก ข้าฯ ปรารถนาจะสร้างทางเพียงเพื่อข้ามไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งมวลจะเร่งข้ามไปกระทั่งบรรลุถึงนิพพาน ข้าฯเองจะข้ามไป และดึงผู้ที่จะจมน้ำให้ข้ามไปด้วย…” เจดีย์ในพุกามนั้นมีทั้งแบบเรียบง่ายไปจนถึงวิจิตรพิศดารขึ้นอยู่กับว่าสร้างขึ้นโดยวรรณะใด ถือเป็นการก่อสร้างรากฐานของศาสนาพุทธลงในแผ่นดินพม่าอย่างมั่นคงนับแต่บัดนั้น เหตุนี้เจดีย์และอารามต่างๆจึงผุดขึ้นมากมายเต็มอาณาเขตของเมืองพุกาม เรียกได้ว่าหันไปทางไหนก็มีแต่เจดีย์ ดังที่ เซอร์เจมส์ สก็อต อุทานไว้ว่า “ที่พุกาม คุณไม่สามารถขยับมือหรือเท้าไปทางไหน โดยไม่สัมผัสเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง

แม้กระทั่งผ่านศึกสงคราม ผ่านกาลเวลา ผ่านแผ่นดินไหวหลายครั้ง เจดีย์ต่างๆชำรุดเสียหายไปเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกรื้ออิฐไปทำป้อมค่ายในยามสงคราม เชื่อกันว่าในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของพุกามมีทั้งเจดีย์และอารามรวมๆกันนับหมื่น และในที่สุดถึงปัจจุบันจะเหลือแค่สองพันกว่าเจดีย์ ก็ยังนับเป็นจำนวนที่มหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของพื้นที่และห้วงเวลาของอารยธรรมเมื่อพันปีก่อน อีกเหตุนึงก็ด้วยบริเวณพุกามนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งกึ่งทะเลทราย ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า30 นิ้วต่อปี ยากที่พืชยืนต้นใหญ่ๆจะเติบโตได้ จึงไม่มีไม้ใหญ่ไปเบียดแทรกโบราณสถานเหมือนหลายๆปราสาทขอมในกัมพูชา รวมไปถึงโครงสร้างทางวิศวกรรมในการเรียงอิฐที่นับได้ว่ายอดเยี่ยมในยุคพันปีก่อนจึงทำให้โครงสร้างของเจดีย์ต่างๆมีความแข็งแรงอย่างมาก(ยกตัวอย่างการเรียงอิฐในเพดานโค้งของวัดอนันดา)

อนิจจัง แม้อาณาจักรพุกามจะเรืองรองสถาพรสักปานใด แต่สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสลายไปตามกาล ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็กฉันใด เมื่อแผ่นดินจีนถูกปกครองด้วยมองโกลราชวงศ์หยวนแผ่อำนาจลงมาทางตอนใต้นับตั้งแต่ยุคของ พระเจ้านรปติสินธุ ราชวงศ์หยวนส่งราชทูตแจ้งให้พุกามส่งเครื่องราชบรรณการให้ราชวงศ์หยวน พุกามในเวลานั้นไม่ยินยอม ทัพมองโกลราชวงศ์หยวนที่นับได้ว่าเป็นเทพสงครามในยุคนั้นจึงยกลงมาตีพุกามสองครั้ง จนพุกามย่อยยับลงและยึดพุกามไว้ได้ในรัชสมัยของ พระเจ้านรสีหบดี จากนั้นพุกามจึงตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวนในที่สุดนับ เป็นเหตุให้พุกามแตกกระสานซ่านเซ็น ทั้งมอญ ยะไข่ และไทยใหญ่ก็แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับพุกามอีกต่อไป อาณาจักรพุกามจึงได้เสื่อมถอยลงเรื่อยๆจนถูกทิ้งร้างในที่สุด

ปริมณฑลของเมืองโบราณพุกาม มีพื้นที่อย่างเป็นทางการถึง 42 ตารางกิโลเมตร ในปัจจุบันถูกขนาบด้วยเขตเมืองใหม่สองเขต รวมไปถึงมีสนามบินในประเทศ และมีสถานีรถไฟให้เดินทางได้สะดวก จะล่องเรือชมวิวมาจากมัณฑะเลย์ยังเรียบง่ายและคลาสสิก การเดินทางมาเยือนพุกามจึงถือว่าค่อนข้างสะดวกสบายในระดับหนึ่ง เป็นอีกเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ต้องย้ำว่าใครที่หลงไหลประวัติศาสตร์หลงรักโบราณคดี ไม่ควรพลาดพุกามด้วยประการทั้งพวง

Day 5… พุกาม ပုဂံ =>มัณฑะเลย์ မန္တလေ

…200 กิโลเมตร

วันนี้ระยะทางที่เราจะเดินทาง ถือว่าไม่ไกล เราจึงพอมีเวลาหย่อนใจในช่วงเช้า หลังจากที่อยู่กับอาหารที่ทัวร์จัดให้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นอาหารที่กินกับข้าวสวย ซึ่งกับข้าวก็จะกึ่งๆไทยกึ่งๆพม่า แล้วรสชาติก็พยายามจะทำให้ถูกปากคนไทย เราจึงหมายมั่นกันว่าเช้านี้จะมาหาอะไรที่ชาวบ้านแถวนี้เขากินกันแล้วกินแบบนั้นกันบ้าง ขี่รถออกมาจัดกันเลยจ้า หน้าตาประมาณอย่างว่า ไม่แพงและถูกใจถูกปาก เป็นมื้อเช้าที่ฟินมากๆ

ทริปนี้มีภาพหนึ่งที่ตั้งเป้าไว้ในหัวว่าอยากได้มุมแบบนี้ คือภาพที่ถ่ายรถทุกคันกับสมาชิกทุกคนในทริปกับเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของพุกาม เราจึงมุ่งหน้าไปที่วัดธัมมะยังจีกัน และก็ได้ภาพเสร็จสมอารมณ์หมาย

วัดธรรมยันจี  ,วัดดะมะยานจี้, ဓမ္မရံကြီးဘုရား, Dhammayan Gyi Temple  แปลว่า “แสงสว่างแห่งธรรม”  สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระเจ้านะระตู ค.ศ. 1167–1170 ตามประวัติศาสตร์ถือได้ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีนิสัยโหดเหี้ยม เนื่องจากทรงสืบราชสมบัติด้วยการปราบดาภิเษกและลอบปลงพระชนม์พระบิดา และพระเชษฐา จากนั้นก็ยังสังหารอีกหลายคนด้วยความหวาดระแวง

จากนั้นเมื่อทรงสำนึกได้ถึงบาปที่กระทำปิตุฆาตซึ่งเป็นอนันตริยกรรม จึงมีดำริที่จะสร้างเจดีย์นี้ขึ้นเพื่อไถ่บาป (เจดีย์นี้จึงมีฉายาว่าเจดีย์ไถ่บาป) จึงทรงสร้างวิหารนี้ให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพุกาม มีเรื่องเล่าว่าระหว่างการก่อสร้าง พระเจ้านะระตู จะเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจงานด้วยตัวเอง ด้วยวิธีเอาเข็มแทงเข้าไปในรอยต่อระหว่างก้อนอิฐ หากรอยต่อของอิฐที่ก่อกว้างขนาดที่เข็มลอดเข้าไปได้ ช่างที่ก่ออิฐในบริเวณนั้นจะถูกลงทัณฑ์ด้วยการนำเอาไปสะบั้นมือเสียให้ขาด ด้วยเหตุนี้เจดีย์ธรรมยันจีจึงมีความแข็งแรงคงทนอย่างมากจากความละเอียดยิบในการก่อสร้าง แต่น่าเสียดายที่เจดีย์นี้ไม่ได้ถูกสร้างจนเสร็จบริบูรณ์ ด้วยเหตุที่ พระเจ้านะระตู ถูกลอบปลงพระชนม์ให้สวรรคตไปเสียก่อนที่จะสร้างเสร็จ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอนันตริยกรรมที่พระองค์ได้ทำ และกรรมที่ทรงกดขี่ไพร่พลแรงงานในระหว่างก่อสร้าง เรื่องราวของพระองค์จึงจบลงด้วยโศกนาฎกรรม

หนึ่งในภาพที่อยากได้ในทริปนี้

เข้าเมืองมัณฑะเลย์ละจ้า

หลังจากทานมื้อเที่ยงเสร็จ เราก็ไปเอนกายให้หายเหนื่อยกันที่โรงแรมหลายชั่วโมง เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ออกไปเที่ยวชมพระราชวังมัณฑะเลย์ မန္တလေး နန်းတော်  อยู่เป็นพระราชวังแห่งสุดท้ายของพม่า

น่าเศร้าที่สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งหลักฐานถึงอดีตที่รุ่งเรืองของราชวงศ์โก้นบอง ကုန်းဘောင်ခေတ် หลังจากสื้นแผ่นดินของ พระเจ้าธีบอ သီပေါ‌မင်း ที่ทรงถูกจักรวรรดิอังกฤษบังคับด้วยกำลังให้สละราชสมบัติ ทั้งยังเนรเทศพระองค์ให้ไปประทับที่รัตนคีรี ประเทศอินเดีย หลังจากนั้นพระองค์ไม่เคยได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาที่เมียนมาร์อีกเลย แม้กระทั่งร่างของพระองค์ก็ยังอยู่ที่รัตนคีรีจวบจนบัดนี้

พระราชวังมัณฑะเลย์ที่เราเห็นในปัจจุบัน แทบทั้งหมดถูกจำลองขึ้นมาใหม่โดยรัฐบาลเมียนมาร์ในยุคหลัง เนื่องจากตัวพระราชวังดั้งเดิมนั้นได้ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดทางอากาศโดยจักรวรรดิอังกฤษในช่วงของสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่าที่นี่เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของกองทัพญีปุ่นที่ยึดครองมัณฑะเลย์ในเวลานั้น

พระราชวังมัณฑะเลย์ สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระเจ้ามินดง เนื่องจากมีการย้ายราชธานีจาก อมรปุระ มายัง มัณฑะเลย์ เพื่อย้ายที่มั่นในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษที่รุกรานและต้องการให้แผ่นดินนี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษต่อจากอินเดีย พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากไม้สักทั้งหมด มีความงดงามเปรียบได้ว่าเป็นพระราชวังที่สร้างจากไม้ที่งดงามที่สุดในเอเชียอาคเนย์ น่าเสียดายที่ราชธานีแห่งนี้มีอายุเพียง 28 ปี เท่านั้นก็ล่มสลายลงไปตามเหตุการณ์ในเวลานั้น

ปัจจุบัน มัณฑะเลย์  မန္တလေ ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาร์ เป็นรองก็แต่เพียงย่างกุ้งเท่านั้น มีความสำคัญในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ เป็นจุดเชื่อมต่อการค้าระหว่างอินเดียกับจีน โดยรวมแล้วเป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญมากของเมียนมาร์ในปัจจุบัน

ณ ที่แห่งนี้ เราสามพี่น้องที่พลัดพรากกันไปนาน ก็ได้มาเจอกัน “อินเดียน่าโอม” “ทศ ranger korat” “โรบินอู๊ด”

กว่าจะออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์กันได้ก็เย็นย่ำ แน่นอนว่าเราต้องไม่พลาดไปเที่ยวสะพานไม้อู้เบน ဦးပိန် တံတား สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลกทอดยาวข้ามทะเลสาบตองตะมานด้วยความยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองมัณฑะเลย์ บรรยากาศสุดชิลจริงๆ มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆนิดนึง …ว่ากันว่าพื้นที่รอบๆทะเลสาบแห่งนี้เป็นที่ๆเชลยศึกจากโยเดียถูกกวาดต้อนให้มาอาศัย ดังปรากฎร่องรอยในจิตกรรมบนผนังด้านในเจดีย์เจาะตอจี้

Day 6…

…215กิโลเมตร


มัณฑะเลย์ မန္တလေ  => กะลอ ကလောမြို့နယ်


จะบอกให้ว่า ขี่รถเที่ยวในพม่า อย่าไปดูที่ระยะ…ไอ่ร้อยสองร้อยกิโลเมตรเนี่ย อาจจะเป็นวันหนักๆอีกวันก็ว่าได้ และวันนี้เป็นหนึ่งในวันมามากเหล่านั้น เพราะต้องผ่านช่วงปรับปรุงถนน แถมยังไปปรับปรุงกันบนทางที่วิ่งไต่เลาะไหล่เขา ยับเยินกันอีกวัน แต่สองข้างทางที่ได้ก็สวยงามเหลือเกิน

วันนี้เป็นวันพิเศษที่คาราวานเราไม่ได้แวะร้านอาหารเพื่อทานมื้อเที่ยง แต่เราแวะทานกันกลางทางในหุบเขา กินกันง่ายๆก็ไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บ้าจริง!!..ทำไมมันอร่อยกว่าอาหารแบบฟูลคอร์สก็ไม่รู้

แวะกินมื้อเที่ยงกันตอนบ่ายๆ อากาศเย็นสบายสุดๆ

Day…7

…75กิโลเมตร


กะลอ ကလောမြို့နယ် => ทะเลสาบอินเล အင်းလေးကန်


ระยะทางวันนี้อย่างใกล้….แต่เดี๋ยวก่อน ที่บอกไปมันคือระยะทางบนบก เพราะเวลาที่เหลือจากระยะทางใกล้ๆคือเราต้องอยู่บนเรือกันแทบทั้งวัน กับอินเล ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเมียนมาร์ ด้วยพื้นที่กว่า 166ตารางกิโลเมตร แต่ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 880เมตร ตั้งอยู่ในรัฐชาน เป็นที่อาศัยของชุมชนท้องถิ่นหลายสิบหมู่บ้าน รวมประชากรที่อาศัยอยู่ที่นี่นับแสนคน น่าสนใจสุดๆ

นอกจากชมวิถีชาวเรือหาปลากันตามระเบียบแล้ว ที่เห็นแปลกตาคือบางลำดูตั้งตกตั้งใจตักสาหร่ายขึ้นเรือ ดูแล้วไม่น่าจะเอาไปทอดกรอบแน่ๆ

หลังจากเคว้งคว้างอยู่กลางมหานทีร่วมชั่วโมง เราก็เลี้ยวเข้าสู่ชุมชน ถึงได้เห็นว่าเขาเอาสาหร่ายมาแปะๆกันแล้วก็ตักดินมาโปะบนสาหร่ายที่มันลอยน้ำได้อีกทีเพื่อเพาะปลูกพืชผัก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวน้ำได้อย่างน่าทึ่ง จากนั้นพอเริ่มเข้าเขตหมู่บ้าน สิ่งที่เห็นเป็นธรรมดาคือการสัญจรของที่นี่เน้นเรือเป็นหลัก เพราะไม่มีถนนแน่นอน

ชมวิถีริมน้ำกันสักพักใหญ่ๆ คาราวานเรือของเราก็มาถึงวัดผ่องดองอู Hpaung Daw U Pagoda ศูนย์รวมศรัทธาของชาวน้ำ เพื่อมาสักการะพระบัวเข็ม หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมาร์

เรือการเวกสำหรับอัญเชิญพระบัวเข็มเพื่อแห่ไปให้ชาวบ้านรอบๆทะเลสาบได้ร่วมบุญในพิธีใหญ่ประจำปี

แล้วเราก็มาถึงสักที วัดผ่องต่ออู วัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอินทาที่นี่ รวมไปถึงชาวเมียนมาร์ที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เป็นที่ประดิษฐานพระบัวเข็มที่ศักดิ์สิทธิ์

ถึงหน้าวัด จัดดอกไม้เข้าไปบูชาพระบัมเข็ม ถูกนิดแพงหน่อยอย่าไปใส่ใจ คิดเสียว่าทำบุญ

ไหวว่าจะพามาชมพระบัวเข็ม แล้วไอ่ก้อนกลมๆสีทองนี่มันอะไร จริงๆแล้วก็คือพระพุทธรูปห้าองค์ที่แกะสลักจากไม้หอม แต่ที่เมียนมาร์ชาวบ้านนิยมปิดทองพระกันมากกกกก ปิดไปปิดมาทองคำเปลวก็พอกเป็นก้อนกลมๆแบบที่เห็นนี่แหละโยม องค์ที่โด่งดังคือองค์ที่อยุ่ตรงกลางจ้า รูปร่างที่แท้จริงแกะจากไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทองเป็นรูปพระเถระมีใบบัวคลุมศีรษะ นั่งอยู่บนฐานดอกบัวหงาย ดอกบัวคว่ำรองรับ ผู้มากราบไหว้นิยมขอพรเรื่องโชคลาภและการเอาชนะศัตรู

ทุกๆปีในเดือนตุลาคม ช่วงออกพรรษาที่นี่จะมีประเพณีอัญเชิญพระทั้งห้าองค์ลงเรือเพื่อแห่ไปตามวัดในชุมชนต่างๆรอบทะเลสาบ ระยะเวลาที่แห่คือ 15 วัน ในริ้วขบวนจะประกอบไปด้วยเรือนับร้อยที่ประดับประดาอย่างสวยงาม และเป็นประเพณีที่หนุ่มชาวอินทาจะต้องมีส่วนร่วมสักครั้งในชีวิต เสมือนเป็นเป้าหมายที่จะก้าวข้ามจากวัยเด็กสู่วัยที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ในปี คศ. 1965 ในระหว่างการแห่องค์พระนั้น เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมีคลื่นลมแรงทำให้เรือการเวกล่ม พระทั้ง 5 องค์จมลงสู่ทะเลสาบ ชาวบ้านช่วยกันงมองค์พระ แต่พบงมได้แค่สี่องค์เท่านั้น แต่ปรากฎว่า องค์ที่ห้านั้นได้กลับมาประดิษฐานอยู่ในวัดเรียบร้อยแล้ว น่าประหลาดที่ในขณะพบนั้นตัวองค์พระยังมีลักษณะเปียกและมีสาหร่ายเกาะ หลังจากนั้นในปีต่อๆมา ชาวอินทาก็ไม่กล้าอัญเชิญองค์ที่ห้าลงเรือแห่อีกเลย เพราะเชื่อว่าท่านคงไม่ชอบลงเรือ

ตัวอย่างขบวนเรือในงานประเพณี จะเห็นว่าที่นี่เขาใช้ขาพายกันนะจ๊ะ ดังนั้นสุภาษิตไทยบางประโยคใช้ไม้ได้กับที่นี่นะโยมนะ

หลังจากตระเวนมาหลายๆวัด เราจะพบว่าวัดในเมียนมาร์เนี่ย จริงจังเรื่องตู้รับบริจาคมาก แล้วดูเหมือนที่เมียนมาร์นี่ผู้คนก็จะจริงจังกับการทำบุญมากๆเช่นกัน  แม้ว่ารายได้ต่อหัวของประชากรที่นี่จะยังถือว่าน้อย แต่ศรัทธาในพุทธศาสนานั้นมหาศาลไม่แพ้ใครเลยจริงๆ

ไหว้พระเสร็จ ก็ได้เวลาช๊อปปิ้ง ก็ไม่ต้องไปไหนใคร ใต้วิหารนี่แหละของเยอะมาก ได้ชุดไทยใหญ่มาฝากโมโตก็มาโดนที่นี่แหละ

ไหว้พระเสร็จ เรือก็มาจอดรอเราที่ท่าแล้ว

รสชาติพอไหว แต่เอาจริงๆมะพร้าวน้ำหอมบ้านเราดีกว่า

เรือออกแล้ว คราวนี้มีอะไรให้ตื่นเต้นอีกนิดหน่อย

ล่องขึ้นมาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงท่าเรือหมู่บ้านอินเดน น้ำใสไหลเย็นเลยแหละ

แล้วเราก็มาถึงที่นี่ ทางเข้ากลุ่มเจดีย์พันองค์  ชเว อินเด่ง [Shwe Inn Dain Pagoda] ทางเข้าที่นี่ยาวมากกกกก

แต่ก่อนจะเข้าไป เราเบี่ยงซ้ายออกไปชมเจดีย์กลุ่มแรกที่อยู่ใกล้ปากทางเข้ากันก่อน

จุดที่ไกด์พามาตรงนี้ ก็เพื่อที่จะบรรยายความเป็นมาว่าเจดีย์กลุ่มนี้ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ราวพุทธศตวรรษที่สอง เจดีย์นับพันองค์ของที่นี่ถูกสร้างและบูรณะกันมาเรื่อยๆ ซ่อมสร้างทับกันไปมา สร้างเพิ่มเติมจนปัจจุบันมีเจดีย์อยู่ในบริเวณนี้ถึง 1,054 องค์ ซึ่งแต่ละหลายองค์ก็มีศิลปะที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่ถูกสร้างขึ้น

ลองส่องดูจากข้างบนก็จะเห็นกลุ่มเจดีย์ต่างๆและทางเข้าที่ยาวมากๆ

เสร็จแล้วก็จะเดินเข้าช่องเล็กๆเพื่อกลับไปเดินทางทางเข้าซึ่งปัจจุบันก็จะเป็นตลาดร้านค้าขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวเรียงรายยาวไปเรื่อยๆกว่าสองกิโลเมตร!! เดินไปกลับก็สี่กิโลครับท่าน!! (มาถึงตรงนี้แม่ค้าจากข้างนอกจะไม่ข้ามถิ่นตามตื้อเราเข้าไปข้างใน แหม่ มีแบ่งโซนด้วย)

สายบุญนี่ชอบเลยทริปนี้

ด้านหลังพระประธานก็จะมีกลุ่มเจดีย์ที่บูรณะไว้ค่อนข้างดีอีกกลุ่มใหญ่

องค์นี้เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณนี้

กลับออกมาจาก ชเว อินเด่ง มีโอกาสได้ภาพนี้ เวลาเรือมุดช่องกลางฝายนี่ได้อารมณ์ล่องแก่งจริงๆ

แวะชมการทอผ้าจากใบบัว แน่นอนว่าเป็นของฝากราคาแพง แต่คณะเราก็จัดไปหลายอยู่นะ

ชมวิถีชุมกันชาวอินทากันไปเรื่อยๆ เพลินตานักท่องเที่ยว ช่างภาพสายไลฟ์นี่รัวชัตเตอร์กันไม่ยั้งแน่ๆ

พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าทะเลสาบอินเล ก็ถึงเวลาพักผ่อนสำหรับวันนี้…

ตอนเย็นก็สวย ตอนเช้าก็สวย สรุปอินเลเนี่ยสวยทุกตอน มาฤดูร้อนยังหนาวๆตอนพระอาทิตย์ตกแล้ว ถ้ามาฤดูหนาวจะหนาวขนาดไหนเนี่ย

เอ๊ะนี่เขามารุมกันหลายๆลำนี่มาทำอะไรกัน

อ่อ ช่วยกันตีไล่ปลานี่เอง

ขึ้นจากเรือ จัดของเสร็จก็สตาร์ทเครื่อง เอ๊ะ เสียงเครื่องมันแปลกๆ ดังแกร๊กๆเบาๆแต่ไม่ดังเป็นจังหวะเท่ากัน เอาชัวร์ๆดีกว่า ไม่อยากไปจอดทำรถกลางทางให้เสียเวลาชองคาราวาน เลยแจ้งให้คาราวานล่วงหน้าไปก่อน ส่วนผมกับทศขี่รถมาที่ร้านที่ไกด์ติดต่อไว้ให้ คุยกันก็ไม่รู้เรื่องนะ ภาษาอังกฤษผมนี่งูๆปลาๆสุดๆ (ภาษาอังกฤษของช่างดีกว่าผมเยอะ) แต่ดูสกิลต่างๆแล้วช่างที่นี่มือโปรเลยล่ะ ไล่ไปไล่มา อ่อ เซ็นเซอร์ตรงจานไฟที่ส่งไฟไปเลี้ยงหัวเทียนสายไฟมันปรินิ๊ดดดดดดดนึง ดูๆแล้วน่าจะเกิดจากแรงกระเทือนที่ล้มวันที่สอง ปริตรงนั้นจะเชื่อมก็ยาก จะหาตรงรุ่น….ก็ต้องรุ่นนั้นเท่านั้น

แน่นอนว่าที่เมียนมาร์ไม่นิยมรุ่นนั้นแน่ๆ ต้องดัดแปลงสถานเดียว ช่างเลยรื้อๆกองอะไหล่ในร้าน ได้ใกล้เคียงมาอันนึง แปลงขาให้ตำแหน่งตรงกับของเดิมหน่อยก็เรียบร้อยโรงเรียนหม่อง ขี่ต่อสบายบรื๋ออออออ เออออออ อะไหล่ Legend 250 Twin นี่หาเทียบง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย แบบนี้โอกาสเอาตัวรอดตามถิ่นทุรกันดารยิ่งสูงขึ้น แต่ยังไงก็แจ้งผู้ผลิตให้แก้ไขและระวังจุดนี้ไปแล้ว

เนี่ยๆเซ็นเซอร์ตัวนี้ๆ

ทำรถเสร็จก็ขี่ไล่ตามคาราวานไปที่ตองจี တောင်ကြီที่เป็นเมืองหลักของรัฐชาน ရှမ်း เสียดายไม่มีโอกาสแวะถ่ายรูปเมืองตองจีเพราะต้องทำเวลา(ขบวนล่วงหน้าไปประมาณหนึ่งชั่วโมง) ขี่กันไปสามคัน มีผมกับทศและเพื่อนของไกด์อีกคนหนึ่งที่ติดต่อมานำทางให้เรา เผื่อเอาไว้เวลาเจอตำรวจที่นี่เรียกว่าเอ็งสองคนหน้าตาแปลกๆขี่รถไม่เหมือนชาวบ้านนี่ยังไงๆจะได้มีคนท้องถิ่นอธิบายให้

อารมณ์ทางขึ้นเมืองตองจีเหมือนขี่รถขึ้นดอยสุเทพ+ทางจากตัวเมืองภูเก็ตไปป่าตอง อากาศบนตองจีเย็นสบาย เป็นเมืองใหญ่ที่อยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,413เมตร นึกภาพว่าเอาเชียงรายไปตั้งไว้บนยอดดอยปุย  (ดอยปุยสูงจากระดับน้ำทะเล 1,685 เมตร ) อย่างไรอย่างนั้น เป็นอีกเมืองที่น่ามาอยู่+ทำมาหากิน ผู้คนหน้าตาดีผิวพรรณดี ถ้าเป็นสมัยโสดๆไม่มีภาระนะ อยากเป็นเขยไทใหญ่เลยแหละ อิอิ

คาราวานที่ขี่มาก่อนเขามาเที่ยวเจดีย์บนตองจีและจุดชมวิวกัน สวยยยยยยยย เสียดายที่ไม่ได้มาพร้อมกับเขาเลย T_T

หลังจากเสียเวลากับการรอซ่อมรถไปพอตัว ขบวนก็ต้องทำเวลา น่าเสียดายที่ไม่ได้แวะดักถ่ายรูปมุมสวยๆหลายมุม ถ้ารอบหน้าได้มาอีกรับรองมีมุมภาพที่เห็นแล้วต้องร้องเฮ้ยแน่นอน

หลังจากแก้ไขเจ้า LEgend 250 Twin เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างก็เป็นปกติ วิ่งเคียงบ่าเคียงใหญ่รถใหญ่ๆได้สบายบรื๋อ ไปไหนไปกัน ทางตรงรอน้องด้วยยยยยยย 55+

ลากกันมายาวๆ ถึงน้ำจ๋างก็มืดแล้ว แวะกินมื้อเย็นก่อนเข้าที่พัก เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆเงียบๆไม่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่ตามระยะทางก็จำเป็นต้องแวะพักที่นี่ก่อนจะไปเชียงตุง

Day…9

…334กิโลเมตร


น้ำจ๋าง နမ့်စန် => เชียงตุง ကျိုင်းတုံ


นอนเต็มอิ่ม+ตื่นสาย ๕๕๕ เอาจริงๆหลายๆคนในคาราวานคงสงสัย ทำไมช่างภาพมันตื่นสายทุกวันเลย(วะ) อ่านะ ต้องลองมานอนห้องช่างภาพนะครับ ชาร์จเต็มหลอด พร้อมลุยวันที่หนักที่สุดของทริปนี้อีกวัน พร้อมจะลุยกันมานานแล้ว!!

เด็กปั้มที่นี่แต่ละคน แหม๊…

เอาจริงๆนะ ไม่รู้ว่าแวะปั้มกันบ่อยๆเนี่ย คืออยากแวะใช่ไหม เรื่องเติมน้ำมันเรื่องรองสินะ…

แวะจอดสำรวจตลาด ชาวบ้าน สินค้า สักหน่อย เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของคนที่นี่ ในรัฐชาน เราจะสังเกตเห็นการแต่งกายของชนเผ่าชาติพันธ์ต่างๆหลากหลาย ในรัฐชานนี่น่าจะมีความหลากหลายของชาติพันธ์เยอะที่สุดในเมียนมาร์แล้วล่ะ ทั้งแปลกตาและเพลินตาในอัตลักษณ์นี้

อีกจุดที่ตื่นตาตื่นใจของทริปนี้คือการได้ขี่ข้ามแม่น้ำสาวะวินกันอีกรอบ สะพานนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเลยครับ ถ้าไม่มีทัวร์พามาพร้อมเอกสารเนี่ย รับรองว่าอดถ่ายภาพแบบนี้เก็บไว้แน่ๆ

เก็บไว้เป็นบันทึกความทรงจำ ครั้งหนึ่งในชีวิตกับสะพานข้ามสาละวินจุดนี้

ผ่านไปครึ่งวัน ยังลัดเลาะอยู่ตามหุบเขา เลียบน้ำไปเรื่อยๆ ช่วงหลังๆก่อนถึงเชียงตุงถึงจะเริ่มไต่ขึ้นไหล่เขาสูงๆ ทางขี่สนุก ลุ้นระทึก ครบทุกรส ถ้ามีโอกาสนะไม่อยากให้พลาด รีบๆมาตอนที่ยังดิบๆหน่อยแบบนี้แหละ อีกหน่อยความเจริญเข้ามา ความสบายเข้ามา อารมณ์จะเปลี่ยนเลยนะ

แวะกินข้าวกันกลางทาง แถวนี้ไม่มีร้านอาหารอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเป็นจุดแวะพักเติมน้ำใส่ถังน้ำเลี้ยงเบรคของรถบรรทุกหนัก มื้อนี้ก็เล่นกันง่ายๆ ไม่พอก็เบิ้ล ลูกทุ่งๆกันแบบนี้เลย

แวะกินข้าวกันกลางทาง แถวนี้ไม่มีร้านอาหารอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเป็นจุดแวะพักเติมน้ำใส่ถังน้ำเลี้ยงเบรคของรถบรรทุกหนัก มื้อนี้ก็เล่นกันง่ายๆ ไม่พอก็เบิ้ล ลูกทุ่งๆกันแบบนี้เลย

ใช่ครับ ประมาณร้อยกิโลเมตรก็ถึงเชียงตุง แต่เป็นร้อยกิโลเมตรที่ยับมาก โค้งเยอะ โค้งยาก ทางแคบ คดเคี้ยวขึ้นลงภูเขา ทางกำลังซ่อมอีกเพียบ โอ้ยยยย ไม่รู้จะสาธยายยังไง คือมันเป็นร้อยกิโลที่ไกลมากๆ ความรู้สึกเหมือนวิ่งสักสามร้อยกิโลยังไม่เหนื่อยเท่านี้ แต่ถามว่าสวยไหม สวยแบบดิบๆคือนิยามของช่วงนี้ บางช่วงก็สวยมากกกกแต่ก็ยังดิบๆ คือทำยังไม่เสร็จสมบูรณ์นั่นแหละโยม

แล้วก็มาถึงจุดนี้ น่าจะเป็นถนนที่สูงที่สุดของเส้นนี้แล้ว ของจริงมันสวยกว่าในรูปเยอะมากจริงๆ แวะถ่ายรูปเท่ๆเก็บไว้เป็นบันทึกความทรงจำเยอะหน่อย ไม่ได้มากันบ่อยๆนี่นะ

ตรงนี้อารมณ์เหมือนน้ำตกมายาในตำนานแถวท่าสองยางเลย

ลงมาถึงเชียงตุงก็ไม่มีอะไรมากครับ กินข้าว ซุกหัวนอน ถึงจะนอนโรงแรมที่ดีที่สุดในเชียงตุงก็เถอะ บอกกงๆ ตอนนี้ไม่เหลือแรงจะถ่ายอะไรแล้ว๕๕๕ ขอนอนก่อนนนนน ขอน้องนอนก่อนนนนน

Day…10

…320กิโลเมตร


เชียงตุง ကျိုင်းတုံ => ท่าขี้เหล็ก တာချီလိတ် => พะเยา


วันนี้ตื่นสายกว่าทุกวัน เพราะระยะทางเหลือไม่เยอะแล้วล่ะ สายๆเราก็มาถ่ายรูปรวมกันที่หนองตุง อากาศเย็นสบาย กล้องใหญ่เก็บลงปี๊บไปแล้ววันนี้ ขอถ่ายง่ายๆสบายๆสักวัน

จากเชียงตุงออกมา ผ่านหลายจุดที่ เออ สวยครับ สวยมากๆ แต่แบบตอนนั้นไม่มีใครมีอารมณ์จะถ่ายกันแล้วแหละ วอแดงเงียบกริ๊บ ใจน่ะไปอยู่ฝั่งไทยกันหมดแล้วไง ติดไว้ก่อนนะ รอบหน้าถ้าได้มาจะวิ่งมาดักมุมสวยๆสักสองมุม ขี่มาเรื่อยๆจนมาแวะที่นี่ อยากกินข้าวซอยหนากฝั่งนี้ ต้องจัดสักหน่อย อร่อยไปหนึ่งอิ่ม

จากนั้นก็แวะทำพิธีการผ่านออกจากเมียนมาร์และพิธีการเข้าไทย ผ่านฉลุยทั้ง ตม.และศุลกากร แวะเก๊กสักสองภาพ ฝันมานานแล้วว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปพม่าแล้วขี่กลับเข้าไทยที่ด่านนี้ ในที่สุดก็ได้ทำ แถมยังได้ทำกับรถแบรนด์ไทย แถมยังเป็นรถที่เล็กที่สุดในทริป เล็กกว่าคันที่ใหญ่กว่าเป็นลำดับถัดไปเป็นเท่าตัว มันเป็นอะไรที่ เออ เราทำสำเร็จว่ะ รถไทยก็ทำได้ว่ะ รถเล็กก็มาได้นะ ไม่ต้องรอให้มีรถใหญ่ๆแพงๆแล้วค่อยทำตามฝันก็ได้นะ จริงไหม

ด้วยความที่เราเครื่องเล็ก พอเข้าถนนดีๆก็เลยบอกพี่ๆว่าไปก่อนเลย นอนที่ไหนกันก็ปักหมุดไว้ในกรุ๊ปไลน์ แล้วเราก็ตามมานอนที่ริมกว๊านพะเยา ที่พักดี๊ดีย์ แต่ราคาก็สมกับความดี คืนนี้ยอมจ่าย อยากนอนสบายๆสักคืนไง คืนนี้นอนคนเดียวแล้วเพราะเพื่อนทศคิดถึงเมียมาก เลยยิงยาวกลับโคราชรวดเดียวเลย(มันถึงคืนนี้จริงๆนะ โคตรบ้า) แล้วก็ออกมากินข้าวต้มกับพี่ๆ อิ่มแล้วว่าจะหานวดสักสองชั่วโมง ปั่นดูรอบเมือง …ปิดกันหมดแล้ว เลยไปเดินเล่นถนนคนเดิน ปั่นรถเล่นริมกว๊าน แล้วก็ไปปิดท้ายที่ร้านเหล้าได้ไงก็ไม่รู้ ๕๕๕ เออ สนุกดี มีช้างเผือกให้ดูด้วย แฮร่!!!

Day…11

…721กิโลเมตร


พะเยา => บางกอก


ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการตื่นสายสุดๆ กว่าจะออกจากโรงแรมก็เกือบๆ11โมง เรียกได้ว่านอนให้คุ้ม จากนั้นก็รูดยาวๆกลับบางกอก อากาศวันนี้ร้อนมากๆ ต้องแวะหลบแดดบ่อย กินน้ำเยอะเพื่อหลีกเลี่ยงฮีทสโตรก แวะกินข้าวซอยร้านโปรดที่แพร่ แวะเอนในห้องแอร์เย็นๆของร้านกาแฟ(พอดีได้ร้านในปั้มPTที่เพิ่งเปิดใหม่ คนน้อยมากเลยกล้าขออนุญาตพนักงานว่าขอเอนแปบนึงนะครับ) พอถึงพิจิตรได้เพื่อนร่วมทางคนใหม่ขี่ไปถึงนครสวรรค์ด้วยกันหนึ่งหน่อ เราแยกกันตรงแยกมโนรมย์ ตอนแรกกะว่าจะยิงไปนอนบ้านโมโต แต่ดูอีกทีก็ดึกแล้ว ขี่เข้าบ้านลูกเดี๋ยวหมาเห่าแล้วลูกตื่น เกรงใจพ่อตาแม่ยาย เลยยิงยาวกลับมานอนหนองแขม เป็นอันจบทริป 11 วัน หกพันกว่ากิโลเมตรโดยบริบูรณ์

คั้นที่รถ แต่ไม่เทคมีโฮม ยกดวดมันตรงนั้นแหละ คอแห้ง!!

ระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 11 วัน

ระยะทางรวมกันเกิน 6,000 กิโลเมตร

ในคาราวานมอเตอร์ไซค์ทัวร์ริ่งแอดเวนเจอร์ยี่สิบกว่าคัน

ขนาดเครื่องที่ใหญ่กว่าไล่ไปตั้งแต่ 650cc 700cc 800cc 1,000cc 1,200cc

กับรถแบรนด์ไทย เครื่องหม้อลมสองสูบระบายความร้อนด้วยอากาศ จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด

ยอมรับตรงๆว่าเมื่อเทียบกันคันอื่นๆทุกคันในทริปแล้ว GPX Legend 250Twin เป็นรถที่ด้อยกว่าแทบทุกทาง

แต่…แต่กับราคาค่าตัว 79,500 บาท เอ้า เพิ่มปี๊บสองใบเอาไปอีกหมื่นนิดๆ รวมกันยังไงก็ยังไม่ถึงแสน

แต่หากจะดูแคลนว่ารถแบบนี้จะไปกับเขาได้ไหม จะจบทริปไหม บอกตรงๆกันตรงนี้เลยนะ

ตอนที่ตัดสินใจเอาคันนี้ไป ก็ตุ้มๆต่อมๆเหมือนกันแหละว่าจะจบหรือไม่จบ

แต่ด้วยความเชื่อที่หลายปีมาแล้วที่ไม่เคยเอาGPXไปทริปไหนแล้วไม่จบทริปเลยสักทริป

มันค้านกับความกลัวไม่จบ…เออ มีปัญหาก็แก้ กันไปสิ หรือให้มันรู้กันไปว่าแก้ไม่ได้

และคันอื่นในทริปที่ดีกว่า ใหญ่กว่า แพงกว่า ก็มีปัญหาให้แก้เหมือนกัน

ในสภาพเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย สภาพแวดล้อมที่เกินครึ่งขี่กันในความร้อนของต้นเดือนมีนาคม

กับวัฒนธรรมการขับขี่ที่ต้องขี่กันไปศึกษากันไป จะแซงรถใหญ่ทีก็ต้องหารหัสกันดีๆ

ถ้าจะบอกว่า บทสรุปในความคิดเห็นนี้เป็นการอวย…

หาก GPX Legend 250 Twin พาผมไปทริปนี้แล้วกลับมาได้แบบเดียวกับคันอื่นๆในทริปเดียวกัน

แล้วจะให้เขียนติในสิ่งที่มันไม่ได้ผิดอะไร…ก็คงไม่ใช่

ผมคงไม่ท้าทายหรือเชิญชวนใครๆว่า เออ เนี่ย เอารถ250cc ไปออกทริปข้ามประเทศกับรถใหญ่ๆสิ

เอาจริงๆ เมื่อถึงทางตรงดีๆ เราก็จะรู้ตัวว่า ถ้าช่วงที่ต้องทำเวลาแล้วสมาชิกท่านอื่นต้องรอเราเนี่ย…

ความรู้สึกของเราตอนนั้นจะเป็นอย่างไร…จะลำบากใจ จะเกรงใจเขาไหม

โชคดีที่ทริปนี้รถนำขบวนไม่ได้ใช้ความเร็วเกินกว่าความเร็วสูงสุดที่ GPX Legend 250 Twin คันนี้ทำได้

โชคดีที่ทางส่วนใหญ่เป็นทางแคบๆบนภูเขาคดเคี้ยวลาดชันที่สภาพไม่ค่อยดีนัก

ช่วยให้น้ำหนักที่คล่องตัวด้วยความเบา พอจะชดเชยอะไรได้บ้าง

แต่ด้วยหน้าที่ๆเป็นช่างภาพ ถ้าไม่ไปดักถ่ายภาพก็จะไม่ได้ภาพที่หวังเอาไว้

ทำให้ต้องรีดเค้นรอบเครื่องกันถึงเรดไลน์แทบจะตลอดเวลา

ต้องหาจังหวะแซงขึ้นได้ตลอดเวลา ยังดีที่ได้ความเมตตาจากพี่ๆเปิดทางให้เสียบนอกเสียบในขึ้นไปได้

แต่กระนั้นก็ต้องไม่ทำให้จังหวะของคาราวานเสียรูปแบบและความเร็วลงไป ช่างภาพที่ดีจะไม่เลือกทำแบบนั้น

แซงรถนำไปได้แล้วก็ยังต้องทิ้งระยะออกไปให้มากพอจะเล็งหามุม จอดรถ เตรียมกล้อง

ถ่ายได้แล้วก็ต้องเก็บกล้องแล้วเร่งความเร็วให้ทันขบวนแล้วหาจังหวะแซงแบบเดิมอีกเมื่อเจอสภาพแวดล้อมที่คิดว่าจะได้ภาพ

วัฏฏะเหล่านี้วนๆเวียนๆไปนับสิบวัน ทำให้การใช้งาน Legend 250 Twin คันนี้นั้น

หากเทียบแล้วก็คงผ่านการสึกหรอล่วงหน้าไปอีกนับหมื่นกิโลเมตรหรือมากกว่านั้นหากเทียบกับการใช้งานสามัญทั่วๆไป

ปัญหาที่พบก็สามารถแก้ไขได้ง่ายจากความที่ไม่ใช่เครื่องที่มีเทคโนโลยีสลับซับซ้อนอะไร

มันคือความเรียบง่ายที่มีเสถียรภาพที่เชื่อใจได้ ซึ่งควรเป็นหัวใจสำคัญสำหรับพาหนะที่พร้อมสู้งานหนักและเดินทางไกล

เชื่อว่าหากท่านใดมองหาพาหนะสักคันในเงื่อนไขต่างๆที่ว่ามาแล้วนี้ หลังจากบรรลุถึงบทความนี้แล้ว

GPX Legend 250 Twin ย่อมจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในรายการพาหนะคู่ใจได้บ้างไม่มากก็น้อย

คงความคลาสสิกด้วยโคมไฟหน้า Full LED ให้ความสว่างในระดับที่สอบผ่านสำหรับการเดินทางทั้งไกลและใกล้ในเวลากลางคืน ความสว่างสัมพันธ์กับความเร็วที่ใช้ได้แบบพอดีตัว พร้อม LED Day time แบบฝังในโคมที่มีลวดลายเฉพาะตัวทั้งสวยงามและเมื่อทำงานรวมกับไฟหน้าแล้วช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ให้สังเกตเห็นได้แต่ไกลในเวลากลางวัฤฤน

ระบบกันสะเทือนหน้าด้วยโช๊คอัพแบบหัวกลับ Upside down ดูดซับแรงสะเทือนเพื่อเสถียรภาพในการทรงตัวของรถได้มั่นใจในทุกสภาพถนน

ระบบกันสะเทือนหลังโช๊คหลังคู่แบรนด์ไทยคุณภาพระดับโลกจาก YSS ทดสอบแล้วทนทานไม่งอแงตลอดทริป ไม่รั่วไม่ซึม บรรทุกทั้งปี๊บทั้งกระเป๋ากันน้ำใบใหญ่ไม่มีย้วยไม่มีกระด้าง

หัวใจหลักของการขับเคลื่อน เครื่องยนต์สองสูบเรียงระบายความร้อนด้วยอากาศพิกัด 250cc อีกขั้นของการระบายความร้อนที่ช่วยระบายความร้อนให้น้ำมันเครื่องด้วยออยคูลเลอร์ จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจุดระเบิดที่แม่นยำและประหยัดมากขึ้นด้วยระบบหัวฉีด GPX FI สำหรับการเดินทาง เป็นเครื่องยนต์ที่ให้กำลังช่วงกลางค่อนข้างดี ช่วงปลายพอมีให้ไหล แรงบิดขึ้นเขาและทางลาดชันสอบผ่านหายห่วงในเส้นทาง6,000กว่ากิโลเมตร

เมื่อเปลี่ยนเป็นแฮนด์บาร์แล้ว ท่านั่งก็เป็นท่าที่ควบคุมรถได้พอดี หลังอาจจะไม่ตรงเป๊ะ แต่ก็เดินทางไกลดีขึ้นเยอะ ถ้าได้ชิลด์หน้ามาช่วยตัดลมที่จะมาปะทะหน้าอกกับหมวกกันน๊อคสักหน่อยนะ จะสบายขึ้นไปอีกขั้น (แต่รถก็จะดูคลาสสิกน้อยลงไปแน่นอน)

ถังน้ำมันใหม่ที่เพิ่มความจุของตระกูลLegendให้มากขึ้นถึง 14.5 ลิตร เดินทางไกลสะดวกขึ้นเยอะ

อีกหนึ่งอุปกรณ์เสริมที่เติมเข้ามาเพิ่มอรรถประโยชน์ในการใช้งาน ที่ถ้าทริปนี้ขาดสิ่งนี้ไป จะลำบากกว่านี้ไม่น้อยเลย คือปี๊บบรรทุกสัมภาระจาก
Tor Adventure กล่องข้างมอเตอร์ไซค์ ปี๊บมอเตอร์ไซค์ pannier boxeshttps://www.facebook.com/Tor909/ ปี๊บแบรนด์ไทยที่ทนถึก ทั้งตัวปี๊บและแรคยึดปี๊บ พร้อมบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม ถ้าเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ปี๊บบุบ แรคเบี้ยว สามารถเอามาซ่อมให้คืนสภาพได้สบายๆ อันนี้แหละเด็ดสุดเลย

อีกประโยชน์คือเป็นกันล้มในตัวเวลาพลาดท่าเสียที ทริปนี้ถ้าไม่ได้ปี๊บช่วยค้ำไว้ตอนล้มวันแรก น่าจะเจ็บตัวไม่น้อยเลย

ขอบคุณ GPX https://www.facebook.com/gpxracingthailand/ ผู้สนับสนุนการเดินทาง

ขอบคุณ Olympus Thailand https://www.facebook.com/olympusthailand/ สนับสนุนกล้องและเลนส์ให้ยืมใช้งาน

ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ติดตามอ่านกระทู้ที่ยาวมากๆกระทู้หนึ่งจนจบบริบูรณ์

เมื่อสายลมแห่งบรรพกาลพัดผ่านทะลุมิติกาลเวลามาอีกครั้ง อินเดียน่าโอมจะกลับมารับใช้อีกที

Share:

Facebook
GPX

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้การใช้งาน

    คุกกี้เหล่านี้ช่วยในการทำงานของไซต์และการปรับแต่งไซต์ให้เหมาะกับผู้ใช้ เช่น วิดีโอและการสนทนาสด คุกกี้เหล่านั้นอาจได้รับการกำหนดโดยเราหรือผู้ให้บริการจากบริษัทอื่นที่เราได้เพิ่มบริการของพวกเขาลงในหน้าเพจ หากคุณไม่อนุญาตให้คุกกี้เหล่านี้ทำงาน ฟังก์ชันบางอย่างของไซต์อาจทำงานไม่ถูกต้อง

  • คุกกี้กำหนดเป้าหมาย

    คุกกี้เหล่านี้จะถูกกำหนดผ่านไซต์ของเราโดยพาร์ทเนอร์โฆษณาของเรา โดยบริษัทดังกล่าวอาจใช้คุกกี้เหล่านี้เพื่อสร้างโปรไฟล์เกี่ยวกับความสนใจของคุณ และแสดงโฆษณาที่คุณสนใจบนไซต์อื่นๆ คุกกี้เหล่านี้ทำงานโดยการระบุแต่ละเบราว์เซอร์และอุปกรณ์ของคุณ หากคุณไม่อนุญาตให้คุกกี้เหล่านี้ทำงาน คุณจะไม่เห็นโฆษณาที่คุณเป็นเป้าหมายบนเว็บไซต์ต่างๆ

บันทึกการตั้งค่า